ก่อนหน้านี้ได้พูดถึง “เป้าหมายทางการเงินที่ทุกคนต้องมี เมื่อเสียชีวิต” ไปแล้ว คราวนี้ลองมาดู “เป้าหมายทางการเงินที่ทุกคนต้องมี เมื่อไม่เสียชีวิต” กันดูบ้าง
เป้าหมายทางการเงิน ตอนที่ไม่เสียชีวิตนั้น มีมากกว่าตอนเสียชีวิตมาก ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายด้านรายได้ เป้าหมายด้านเงินเก็บ หรือเป้าหมายด้านค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละคนก็มีเป้าหมายด้านเหล่านี้แตกต่างกันไป แต่ในตอนนี้จะขอพูดถึง เป้าหมายด้านรายจ่ายที่ทุกคนก็มักจะต้องมีเหมือน ๆ กันก่อน นั่นคือ เป้าหายด้านความเจ็บป่วย และด้านการเกษียณอายุ
เป้าหมายด้านความเจ็บป่วย
ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องหลายคนต้องมาเสียใจภายหลัง ด้วยหลายเหตุผล และเหตุผลที่พบบ่อยคือ
- ยังแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ก็เลยไม่ได้เตรียมแผนเอาไว้ แต่พอเจ็บป่วยขึ้นมาก ก็เพิ่งจะพบว่า ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และเมื่อต้องการทำประกันสุขภาพ ก็มักถูกปฏิเสธความคุ้มครองในโรคนั้น ๆ หรือไม่รับประกันเลย
- บริษัทดูแลเรื่องค่ารักษาอยู่แล้ว ทุกวันนี้ถ้าเจ็บป่วยอะไร บริษัทก็จ่ายให้ไม่มีปัญหา แต่ลืมคิดว่าว่า ถ้าเราไม่ได้อยู่ในบริษัทแล้ว ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่เต็มใจ แล้วถึงตอนนั้น ไม่รายได้ แล้วต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง และไม่ได้เตรียมเป้าหมายเรื่องนี้ไว้ จะทำอย่างไร
- มีประกันสังคมหรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะมีหลักประกันเหล่านี้ บางคนอาจไม่ทันคิดว่า ด้วยงบประมาณที่จำกัด การดูแลรักษาก็มีข้อจำกัดด้วย ถ้าไม่ได้เจ็บป่วยอะไรมาก อาจดูไม่แตกต่าง แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยที่ต้องมีค่ารักษาสูง หรือมีทางเลือกหลากหลาย เราอาจไม่มีโอกาสได้เลือก ถึงตอนนั้นถ้าอยากจะจ่ายเอง ก็ลำบากแล้ว เพราะว่าไม่ได้เตรียมเงินด้านนี้มาก่อน แนะนำว่าถ้าใครยังไม่เคยใช้บริการเหล่านี้มาก่อน อาจลองหาโอกาสใช้ดู แล้วดูว่าเหมือนที่เราคิดไว้ไหม พอใจไหม หรือเราควรจะเตรียมค่ารักษาของเราไว้เอง
เป้าหมายด้านการเกษียณอายุ
คนส่วนใหญ่ตระหนักเรื่องการเกษียณ และได้พยายาม เก็บออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งสร้างรายได้แบบที่ไม่ต้องลงมือลงแรงเอง (passive income) แต่ปัญหาอยู่ที่ ตัวเลขจำนวนเงินที่เราตั้งใจจะให้มีแน่ ๆ ก่อนที่เราจะเกษียณ มันมักจะน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งมักเกิดจากปัจจัยเหล่านี้
- ไม่ได้คิดจริงจัง ว่า แท้จริงแล้วหลังเกษียณจะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร หรืออยากมีเท่าไร ทำให้พอถึงเวลาจริงพบว่า ไม่พอนี่นา แต่ก็สายไปเสียแล้ว
- คาดว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะน้อย อาจเพราะยังไม่เคยเกษียณมาก่อน ก็เลยยังไม่รู้ว่าต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หรืออยากมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หลายคนคิดว่า เมื่อไม่ทำงานแล้ว คงไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน เพราะอายุมากแล้ว และค่าใช้จ่ายด้านสังคมก็น่าจะลดลงไปด้วย แต่ลองพิจารณาปัจจัยเหล่านี้
- คนที่เกษียณแล้วไม่ควรอยู่เฉยๆหรืออยู่หน้าทีวีทั้งวัน เนื่องจากการไม่มีกิจกรรมทางร่างกายและสมอง ทำให้ร่างกายผู้สูงอายุเสื่อมเร็วมาก ดังนั้นแม้ว่าเกษียณแล้ว ก็ควรมีกิจกรรมสันทนาการ เพื่อไม่ให้ร่างกาายและสมองเสื่อมเร็ว
- คนที่เกษียณใหม่ๆความรู้สึกไม่ได้ต่างจากตอนทำงานมากนัก ยังคิดว่าตัวเองแข็งแรง รู้สึกว่ามีเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องไปทำงานแล้ว รู้สึกเป็นอิสระ อยากใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาต้องทำงาน ตลอดยังไม่ได้ใช้ชีวิตเลย อยากเที่ยวมากขึ้น อยากออกจากบ้านมากขึ้น นั่นทำให้มีรายจ่ายที่มากขึ้น ทั้งจากค่าเดินทาง และกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้นไปด้วย
- คนที่เกษียณแล้วร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนก่อนหน้านี้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ต้องบำรุงดูแลรักษาร่างกายมากกว่าเมื่อก่อน อีกทั้งอาจต้องปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุมากขึ้น
- คิดว่าตัวเองจะอายุสั้น หลายคนคิดว่าตัวเองจะอยู่ไม่นาน ถ้าเตรียมเงินเผื่อไว้นาน กลัวว่าจะไม่ได้ใช้ จะเสียดาย (ที่จริง ถ้าท่านเสียชีวิตขณะที่ยังมีเงินเหลืออีกมากมาย ท่านคงไม่มีโอกาสมานั่งเสียดายหรอกจริงไหม) ที่จริงแล้วเราก็เลือกไม่ได้ หากอยู่นานกว่าที่คิด ก็จะลำบากมาก เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะอยู่นาน แล้วควรจะเตรียมตัวอย่างน้อยแค่ไหนล่ะ แนะนำให้ลองคิดอย่างนี้
- อายุคนไทยเฉลี่ยปัจจุบัน ชายประมาณ 75 ปี หญิงประมาณ 80 ปี และเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ปีในทุก ๆ 10 ปี ดังนั้น ถ้าตอนนี้เราเป็นหญิงอายุ 50 ปี อีก 30 ปีข้างหน้า เราอายุ 80 ปี แต่ตอนนั้นค่าเฉลี่ยก็คงจะเป็น 90 ปีไปแล้ว
- ลองใช้อายุของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายตอนที่เสียชีวิตด้วยโรคชราเป็นตัวตั้ง แล้วลบด้วยอายุของเรา แล้วคูณด้วย 0.3 ก็จะเป็นประมาณการอายุที่เพิ่มขึ้นของเรา เช่น พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตด้วยโรคชราและอายุยืนที่สุดมีอายุ 70 ปี และท่าน อายุมากกว่าเรา 50 ปี เนื่องจากคนไทยอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 ปีในทุก ๆ 10 ปี ดังนั้นเราน่าจะอายุมากกว่าท่าน 50 / 10 * 3 = 15 ปี ดังนั้นเราก็อาจจะมีอายุถึง 70 + 15 = 85 ปีก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้าม ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มมุมมองที่ท่านอาจมองข้ามไป และกำหนดตัวเลขได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นได้มากขึ้นนะคะ
ในโอกาสถัด ๆ ไป จะมาบอกว่า แล้วมีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยให้เราเตรียมสิ่งเหล่านี้ และเครื่องมือแต่ละอย่างมีปัจจัยอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง แล้วพบกันนะคะ