“เมื่อวันสุดท้ายนั้นมาถึง…คุณไม่อยากทิ้งอะไรไว้ให้คนข้างหลัง?”


ทุกคนล้วนมีเป้าหมายทางการเงินในชีวิต บางคนอยากมีรายได้สูง บางคนอยากมีเงินเก็บมากพอสำหรับชีวิตบั้นปลาย แต่มีเป้าหมายหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือ เป้าหมายทางการเงินเมื่อเสียชีวิต

เพราะการเสียชีวิตไม่ใช่จุดสิ้นสุดทางการเงิน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจตกไปอยู่บนบ่าของคนข้างหลังโดยไม่ตั้งใจ

ในบทความนี้ เราจะพูดถึง 3 เป้าหมายทางการเงินเมื่อเสียชีวิต ที่ทุกคนต้องรู้และควรเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้

1. ค่าใช้จ่ายการจัดการศพ

เมื่อเราเสียชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งแต่ การแจ้งการเสียชีวิต การขนย้าย ค่าจัดงานพิธี ไปจนถึงการเก็บอัฐิและลอยอังคาร โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 50,000 ไปจนถึงหลายแสนบาท ขึ้นอยู่กับสถานที่และรายละเอียดของแต่ละงาน ค่าใช้จ่ายนี้ถือเป็นเป้าหมายทางการเงินที่ต้องจัดเตรียมล่วงหน้า โดยปกติ คนที่จากไปควรเป็นผู้วางแผน เพื่อไม่ให้คนที่ยังอยู่ต้องรับภาระแทน

การเตรียมเงินสำหรับเป้าหมายนี้ควรเป็น สินทรัพย์ที่สภาพคล่องสูง เพราะงานศพมักจะต้องใช้เงินภายในไม่กี่วันนับจากเสียชีวิต 

2. ค่าใช้จ่ายเรื่องหนี้สิน

หากเดิมตอนที่เรามีชีวิต เรามีหนี้สินที่ต้องดูแลรับผิดชอบเช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน เมื่อเราเสียชีวิต ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ต่อจากเรา หรือเราจะรับผิดชอบเองทั้งหมดเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป หรืออย่างน้อยก็เพื่อคนที่ยอมเชื่อใจเรา ยอมค้ำประกันให้เราจะได้ไม่เดือดร้อน

นี่ก็เป็นเป้าหมายทางการเงินอย่างหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง

3. ความเป็นอยู่ของคนที่เราดูแล

หากเดิมตอนที่เรามีชีวิต เราส่งเสียเลี้ยงดูใครบางคน อาจจะเป็นพ่อแม่ของเรา ครอบครัวของเรา หรือแม้แต่มูลนิธิที่เราให้เงินสนับสนุนดูแล เราอาจไม่ใช่คนเดียวที่รับผิดชอบดูแลคนเหล่านี้ แต่เมื่อเราเสียชีวิต ใครจะต้องรับดูแลต่อ “ในส่วนของเรา” การดูแลไม่ใช่เพียงแค่การให้เงิน แต่ยังรวมถึงการดูแลเอาใจใส่ ช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ ช่วยเป็นมือเป็นเท้าให้ พาไปเที่ยวหรือพาไปโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้เงินไม่สามารถทดแทนได้ และในหลายกรณีเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ แต่การมีเงินชดเชยบ้าง ก็มักจะเป็นทางเลือกที่หลายคนเลือก อย่างน้อยก็แทนคำพูดว่า “ขอโทษ ที่ไม่สามารถอยู่ดูแลได้อย่างที่ตั้งใจไว้” สำหรับผู้ที่เราดูแลอยู่ หรือ “ขอโทษ ที่ไม่สามารถอยู่ช่วยดูแลได้อย่างที่ตั้งใจไว้” สำหรับผู้ที่ช่วยเราดูแล ซึ่งนี่ก็ถือเป็นเป้าหมายทางการเงินของหลาย ๆ คนเหมือนกัน

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเมื่อเราเสียชีวิต ก็จะมีเหตุให้ต้องใช้เงินหลายอย่างซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายทางการเงินเหมือนกัน และเมื่อเรารู้ตัวว่าเรามีเป้าหมายทางการเงินที่เลี่ยงไม่ได้เหล่านี้แล้ว เราก็ควรรีบวางแผนตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้สายเกินไป

เพราะเราไม่อาจเลือกวันที่เราจะจากไปได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่า…จะทิ้งอะไรไว้ให้คนข้างหลัง

ส่วนเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายเหล่านี้ จะนำเสอนในโอกาสต่อ ๆ ไป ลองติดตามดูนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ Cookies policy

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save